5 วิธีดูแลใจผู้สูงวัย ไม่ให้วิตกกังวลกับโรคระบาด
ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ครอบครัวควรใส่ใจและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในช่วงที่มีโรคระบาด เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องการการดูแลจากญาติ อีกทั้งการจำกัดบริเวณให้ผู้สูงอายุอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานานติดต่อกันหลายเดือน อาจส่งผลให้สภาพร่างกายและสมองของผู้สูงอายุถดถอยลง รวมทั้งเกิดความเครียดได้
ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคระบาด ได้ง่ายมากกว่าคนในวัยอื่น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำลงตามวัย แม้ว่าสุขภาพโดยรวมจะแข็งแรงสมบูรณ์ดีก็ตาม การดูแลสุขภาพร่างกายเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโควิดให้แก่ผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครอบครัวต้องใส่ใจ อย่างไรก็ตาม หลายคนมักโฟกัสไปที่สุขภาพกายจนลืมใส่ใจเรื่องสุขภาพจิต ทั้งที่ ช่วงที่มีภาวะวิกฤติ เช่น เกิดโรคระบาดต่าง ๆ นั้น ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้สูงอายุไม่แพ้กัน
5 วิธีดูแลใจผู้สูงวัย ไม่ให้เครียดหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคระบาด
1. สังเกต อารมณ์และพฤติกรรมของผู้สูงอายุ ว่ามีความวิตกกังวล เช่น ไม่สบายใจ หงุดหงิด อารมณ์เสีย โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือเจ็บป่วยมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องด้านการรับรู้หรือโรคสมองเสื่อม อาจแสดงความวิตกกังวลเมื่อต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ทั้งนี้ ควรจำกัดการติดตามข่าวสารของผู้สูงวัยประมาณวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนเย็น เพื่อป้องกันภาวะวิตกกังวลจากการรับข่าวสารมากเกินไปจนเกิดการวิตกกังวลได้
2. ใส่ใจรับฟัง ให้กำลังใจให้ผู้สูงวัย เมื่อผู้สูงอายุแสดงความวิตกกังวล ครอบครัว หรือผู้ดูแลสามารถผ่อนคลายอารมณ์หรือความวิตกกังวลของผู้สูงอายุลงได้ โดยการรับฟังสิ่งที่ผู้สูงอายุพูดหรือบ่น (โดยไม่ตัดบดหรือแสดงท่าทางรำคาญ) แสดงความเข้าใจในสิ่งที่ผู้สูงอายุกังวล และที่สำคัญควรพูดให้กำลังใจท่านและชื่นชมเมื่อสามารถปฏิบัติตัวได้ตามคำแนะนำ การส่งพลังบวก แชร์เรื่องดีๆ และให้กำลังใจกันเสมอ เมื่อมีกำลังใจดี สุขภาพก็จะดีตามไปด้วย
3. สื่อสารชัดเจน สื่อสารกับผู้สูงวัยด้วยคำพูดที่ง่าย ชัดเจน เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 อาจต้องพูดซ้ำ ๆ หลายรอบ ครอบครัวหรือผู้ดูแลจึงควรพูดคุยอย่างใจเย็นและอดทน นอกจากนี้ สามารถอธิบายโดยใช้ภาพ และทำให้ผู้สูงอายุดูเป็นตัวอย่าง เช่น การล้างมือที่ถูกวิธี จะช่วยให้ท่านเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้องมากขึ้น
4. ชวนทำกิจกรรม ครอบครัวหรือผู้ดูแลสามารถผ่อนคลายความเครียดให้ผู้สูงอายุ ในช่วงที่ต้องอยู่บ้านเพื่อลดการระบาดของโรคได้ โดยทำกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ มีความถนัดหรือมีความภูมิใจ เช่น ชวนท่านเดินออกกำลังกายในบริเวณบ้าน ชวนทำอาหาร เปิดเพลงโปรดของท่าน ชวนท่านร้องเพลง หรือสวดมนต์ร่วมกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากากอนามัย พกพาเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มในสถานที่ที่คนพลุกพล่าน และยืนห่างผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
5. พาไปหาหมอ หากผู้สูงวัยมีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ เช่น เครียดมาก มีอาการซึมเศร้า หมกมุ่นแต่เรื่องการระบาดคิดแง่ลบเกือบตลอดเวลา ให้ครอบครัวหรือผู้ดูแลพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323
ครอบครัวสามารถลดความเครียดหรือวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของผู้สูงอายุได้ด้วย 5 วิธีข้างตัน เพียงเท่านี้ผู้สูงอายุก็จะมีจิตใจที่แจ่มใส มีพลังใจ และกำลังใจ พร้อมฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้