สุขภาพที่ดีเริ่มได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “กินเค็ม”
รสชาติที่จัดจ้านถึงเครื่อง เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของอาหารไทย แม้ว่ารสชาติเหล่านี้จะช่วยเรียกน้ำย่อยได้ดี ทำให้เจริญอาหาร ยิ่งกินยิ่งอร่อย สร้างความสุขให้กับผู้กินได้เป็นอย่างดี แต่การกินอาหารรสจัดเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ หนึ่งในรสชาติจัดจ้านที่หลายคนเสพติดโดยไม่รู้ตัว คือ รสเค็ม หรือก็คือ การกินเค็ม นั่นเอง
ความเค็มส่วนใหญ่ของรสเค็มเกี่ยวข้องกับเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) โดยเป็นแหล่งโซเดียมที่พบบ่อยที่สุด ประกอบด้วยโซเดียม 40% และคลอไรด์ 60% อาหารส่วนใหญ่มีโซเดียมจากเกลือที่ละลายในน้ำ ไม่ว่าจะมีอยู่ตามธรรมชาติหรือเติมในการปรุงอาหารหรือการแปรรูป โซเดียมที่ร่างกายได้รับจะทำหน้าที่สำคัญ อาทิ ช่วยควบคุมสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การรับประทานเกลือในปริมาณที่มากเกินไปทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดอาการเจ็บป่วยรวมถึงโรคต่าง ๆ อาทิ คอแห้ง หิวน้ำตลอด ร้อนใน ภาวะขาดน้ำ บวมน้ำ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยเหตุนี้ การลดพฤติกรรมกินเค็มจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้
เคล็ดลับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเค็ม
1. เก็บขวดเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงรสที่ให้รสเค็ม ที่วางอยู่บนโต๊ะอาหารไปไว้ที่อื่น
2. ปรุงอาหารโดยลดการเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงรสที่ให้รสเค็ม เหลือเพียงครึ่งเดียวจากที่เคยเติมตามความเคยชิน เมื่อคุ้นกับรสชาติใหม่แล้วก็เริ่มลดความเข้มลงเรื่อย ๆ จนกระทั้งใช้ให้น้อยที่สุดหรือไม่ต้องปรุงเลย
3. หากชอบกินอาหารรสจัด ควรค่อย ๆ ลดความจัดจ้านลง หรือกินอาหารรสจัดสลับกันไป
4. เลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารที่มีโซเดียมสูงไม่ใช่แค่เกลือกับน้ำปลา แต่ยังรวมถึงกะปิ ปลาร้า ผงชูรส ซีอิ๊ว ผงซุปก้อน ซอสปรุงรส ผงฟูที่อยู่ในขนมปังเบเกอรี่ต่าง ๆ และสารถนอมอาหารในอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน หมูยอ เป็นต้น จึงควรลดการกินอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้งเค็ม ของเค็มทั้งหลาย
5. ทำอาหารกินเอง เพื่อเลือกวัตถุดิบที่นำมาปรุงได้ ในกรณีที่สั่งอาหารนอกบ้าน ให้ย้ำเสมอจนเป็นนิสัยว่า “ไม่เค็ม”
6. สังเกตปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ และแบ่งกินให้พอเหมาะ โดยใน 1 วันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 1 ช้อนชา
7. เลิกนิสัยกินจุบจิบระหว่างวัน โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบที่ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเกลือ นอกจากจะลดเกลือได้แล้ว ยังเป็นอีกทางหนึ่งช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย อาจใช้วิธีเปลี่ยนมากินของว่างที่เป็นผักต้ม เช่น ฟักทองต้ม มันต้ม หรือกินผลไม้
8. เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ เนื่องจากน้ำผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง มักมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไปด้วยทําให้น้ำผลไม้เหล่านี้มีโซเดียมสูง
การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเค็มอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แนะนำให้ค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ เปลี่ยน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับเปลี่ยนและเกิดความเคยชิน จะทำให้ได้ผลในระยะยาวที่ดีกว่า