เมื่อแม่พูดคนละภาษากับลูกชาย
ฉันโตมาจากครอบครัวใหญ่ ครอบครัวที่แม่มีแต่ลูกผู้หญิงเราโตขึ้นมาจากความเป็นเพื่อนมากกว่าจะเป็นแค่พี่ ๆ น้อง ๆ ฉันยังแอบนึกถึงบ่อย ๆ ว่ามันช่างเป็นช่วงเวลาที่สนุกกันจริง ๆ เพราะความเป็นผู้หญิงทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น (แอบนึกไปเอง) ฉันนั่งคิดอดีตด้วยความกังวลกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ฉันกำลังเผชิญอยู่ในยุคของฉัน วันและเวลาของฉันกับลูกชายที่เติบโตขึ้นมาจากความน่ารักและน่าเอ็นดู มันช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน ความเข้าใจระหว่างฉันกับลูกชายเริ่มห่างกันออกไปทุกที ภาพในอดีตของแม่กับลูกผู้หญิงที่ต่างดูแลซึ่งกันและกันมาตอกย้ำให้ฉันต้องคิดว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับตัวฉัน “ฉันเป็นแม่ที่ไม่ดี ฉันเลี้ยงลูกผู้ชายไม่เป็นใช่ไหม หรือฉันเลี้ยงลูกให้ดีได้ให้เหมือนที่แม่ฉันเลี้ยงฉันและพี่ ๆ น้อง ๆ ของฉัน” ความคิดและมุมมองของฉันและลูกชายเริ่มไม่ค่อยตรงกันเท่าไรนักโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เขาเริ่มเข้าวัยรุ่น แต่มันคงไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงที่จะสรุปว่า “ความไม่เข้าใจกันเพราะลูกเป็นวัยรุ่น” มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้นอีก ฉันพยายามคิดหาเหตุผลทุก ๆ ครั้งหลังจากที่ฉันกับลูกทะเลาะกัน แต่ก็ไม่ได้คำตอบ ผ่านมาหลายปีอยู่ ฉันก็ยังพยายามค้นหาคำตอบนั้นแต่ก็ได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ฉันหยุดคิดเกิดขึ้น ฉันไม่ต้องการหาคำตอบอีกต่อไป เพราะถ้าฉันหาคำตอบ ฉันก็จะวนอยู่ในคำถามและคำตอบเดิม ๆ ฉันเริ่มปรับตัวเองให้คิดน้อยลง ฟังเขามากขึ้น พยายามเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด และไม่ต้องการให้เขาต้องตอบคำถามของฉันอีกต่อไป ฉันพยายามเป็นเพื่อนที่ฟังและเข้าใจเขามากกว่าการใช้ความเป็นแม่ที่ทำให้เขารู้สึกว่าต้องยอมฉันในทุกกรณี แน่นอนที่สุดฉันต้องปรับบทบาทของความเป็นแม่ใหม่สักที (ปฏิบัติการณ์ล่าฝันหรือเปล่าค่ะเนี่ย) พอลองปรับได้สักพัก เหตุการณ์เริ่มดีขึ้น เราสงบขึ้น ลูกก็สงบด้วย ฟังเขามากขึ้น ไม่รบเร้าให้เขาต้องฟังเราและตอบเราเพราะเราเป็นแม่ ฉันสั่งซื้อหนังสือฝรั่งหลายเล่มเลยทีเดียว กว่าจะเรียนรู้และได้คำตอบมาปรับใช้ให้เกิดขึ้นจริงได้ บางอย่างเราแค่คิดและมองปัญหาให้ออก ค่อย ๆ ปรับและแก้ไป ก็ดีขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงมากกว่า ถ้าฉันไม่เปลี่ยนตัวเองในวันนั้น คงไม่มีวันนี้ วันที่ลูกเริ่มสงบและยอมพูดคุยกับแม่... ฉันรู้ดีว่าวันนี้ฉันต้องพยายามทำให้ดีที่สุด การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ไม่ใช่เป็นเรื่องของการยอมแพ้ในบทบาทของแม่ แต่เป็นการสร้างเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่าถ้าเราอยากได้ลูกที่ทะเลาะกับเราอยู่ เราก็ชวนทะเลาะกับเขาต่อไป แต่ถ้าเราอยากได้ลูกที่เข้าใจเรา เราต้องฟังเขาและแบ่งปันความรู้สึกของเราให้เขาฟัง เขาจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง เราบังคับให้ลูกทำตามใจเราไม่ได้นะคะ แต่เราทำให้เขาเป็นเด็กที่คิดได้ คิดเป็น แล้วเขาจะเลือกปฎิบัติดีกับเราเอง
|
Home >> |
เมื่อแม่พูดคนละภาษากับลูกชาย |
|
|