ผู้หญิงต้องรู้! ทิปส์ดูแลตัวเองให้ถูกวิธีในช่วงวันนั้นของเดือน
ไม่จำเป็นต้องเป็นสาวน้อยวัยแรกแย้มที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือน แต่สาว ๆ จำนวนไม่น้อยที่ผ่านการมีประจำเดือนมาหลายต่อหลายครั้งก็ยังมีความผิดพลาดในการดูแลตัวเองช่วงวันนั้นของเดือน นำไปสู่ปัญหาเรื่องสุขอนามัยของอวัยวะเพศ และอาจรุนแรงถึงขึ้นเกิดโรคต่าง ๆ ได้ ไม่อยากเสี่ยงต้องดูแลตัวเองให้ถูกวิธี
ทิปส์ดูแลตัวเองให้ถูกวิธีในช่วงวันนั้นของเดือน
1. การอาบน้ำควรเป็นน้ำที่มีอุณหภูมิปกติ ไม่เย็นจัดจนทำให้หนาวสั่น ไม่ร้อนจนเกินไป อย่างไรก็ถาม หากรู้สึกปวดท้อง ปวดขา ปวดหลัง การเลือกอาบน้ำอุ่นจะช่วยให้สบายตัวขึ้น ไม่ควรอาบน้ำในสระสาธารณะ หรืออ่างอาบน้ำ สำหรับการทำความสะอาดอวัยวะเพศในช่วงที่มีประจำเดือนให้ฟอกล้างด้วยสบู่อ่อน ๆ และไม่ล้างเข้าไปในช่องคลอด
2. ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง เพราะเมื่อผ้าอนามัยเปียกชุ่ม จะทำให้อวัยวะเปียกชื้น ผิวหนังจะเกิดผื่นคันหรือเปื่อยลอกได้ง่าย ทั้งยังทำให้เกิดการหมักหมม เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเกิดเชื้อรา ทำให้มีอาการระคายเคือง อาการคัน หรือเชื้อเหล่านี้อาจแพร่ไปยังทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา นอกจากนี้ผ้าอนามัยที่เปียกชุ่ม พอเลือดแห้งผ้าอนามัยจะแข็งทำให้กดหรือเสียดสี ทำให้ผิวหนังของอวัยวะเพศและขาหนีบอักเสบ ซึ่งจะเจ็บแสบมาก
3. ทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอนามัย ควรล้างอวัยวะเพศก่อนแล้วซับให้แห้ง ที่สำคัญ ควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนผ้าอนามัย โดยฟอกสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกเข้าไปยังจุดซ้อนเร้น และไม่ให้เชื้อโรคจากผ้าอนามัยกระจายปนเปื้อนไปยังที่ต่าง ๆ ส่วนผ้าอนามัยแผ่นเก่า ควรม้วนและห่อกระดาษให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนหรือมีเชื้อโรคกระจายสู่สิ่งแวดล้อม
4. การเลือกกางเกงชั้นใน ควรเลือกเนื้อผ้าที่เบาสบาย ไม่เก็บความร้อนเพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นได้ง่าย และควรสวมกางเกงในที่สะอาด ซักตากในที่แจ้งและที่ระบายอากาศ ส่วนเสื้อผ้าควรใส่เสื้อผ้าที่หลวม ๆ ไม่ควรใส่แบบรัดรูป เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว และอาจกระตุ้นให้ปวดแน่นท้องมากขึ้น
5. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีประจำเดือน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มากกว่าปกติถึง 3 เท่า เพราะในระหว่างที่มีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิดออกให้เลือดประจำเดือนไหลได้สะดวก ทำให้เชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด และแบคทีเรียที่มาจากการมีเพศสัมพันธ์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย จนอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ลุกลาม และรุนแรง
6. ขณะที่มีประจำเดือน ควรลดระดับการออกกำลังกายลงกว่าปกติ ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวก และไม่เหนื่อยจนเกินไป เพราะการที่หัวใจเต้นเร็วจะเป็นตัวเร่งให้ปริมาณประจำเดือนออกมามากขึ้น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ง่าย และไม่ควรเลือกออกกำลังกายด้วยวิธีการว่ายน้ำ เพราะในน้ำอาจมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนอยู่ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในช่องคลอด และเกิดการอักเสบได้
ทั้งนี้ หากพบว่ามีเลือดออกผิดปกติที่ลักษณะต่างออกไปจากประจำเดือน หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเลือดออกผิดปกติหรือไม่ ควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาต่อไป