ทำอย่างไรเมื่ออาหารติดคอ พร้อมวิธีป้องกันอาหารติดคอ
เหตุการณ์อาหารติดคอหรือสำลักอาหารเกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กวัยซุกซนและผู้สูงอายุ สาเหตุอาจเกิดจากการกินอาหารชิ้นใหญ่ เคี้ยวไม่ละเอียด ขาดความระวัง จึงเกิดการติดคอ และปิดกั้นหลอดลม จนขาดอากาศหายใจได้ เรียกว่าเป็นอันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด ไม่อยากเสี่ยงเรามีวิธีป้องกันมาฝาก
อาหารติดคอ หรือสำลักอาหาร เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กและผู้สูงอายุ สำหรับเด็กเล็กอาจเป็นเพราะขนาดของอาหารใหญ่เกินไปแล้วเผลอกลืนลงคอจนทำให้ติดคอหรือสำลัก หรือเล่นซุกซนจนทำให้กลืนอาหารผิดจังหวะ ส่วนผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบการทำงานของร่างกายเสื่อมลง อาทิ กำลังของการบดเคี้ยวลดลง การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง น้ำลายในปากน้อยลง ทำให้อาหารอาจติดคอหรือสำลักอาหารได้ง่าย
การป้องกันอาหารติดคอขณะกินอาหาร มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
1. นั่งตัวตรงขณะกินอาหารและหลังกินเสร็จห้ามนอนทันที ควรนั่งพักหรือเดินย่อยสัก 15 – 20 นาที
2. กินอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด กลืนอาหารอย่างตั้งใจ ให้เวลากับมื้ออาหารอย่างเพียงพอ
3. อย่ากินอาหารขณะเหนื่อยหรือรีบเร่ง ควรพักก่อนสัก 30 นาที
4. อาหารที่กินควรแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือพอดีคำ ไม่ใหญ่เกินไป หรือเหนียวเกินไป
5. ลดสิ่งรบกวนขณะกินอาหาร เช่น การเดิน การพูดคุย การดูทีวี เพื่อป้องกันการหัวเราะขณะกลืนอาหาร
6. กินอาหารคำละ 1 ชนิด อาหารที่มีเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดใน 1 คำ อาจสำลักได้ง่าย
7. ควรกินอาหารสลับกัน เช่น อาหารที่บดเคี้ยว สลับกับอาหารเหลว เพื่อให้กลืนอาหารง่ายไม่ฝืดคอ
8. หากอาหารที่กินแข็งหรือแห้งเกินไป ควรมีน้ำซอสหรือน้ำซุปปริมาณพอเหมาะ ช่วยให้เนื้ออาหารชุ่มและนุ่มขึ้น
สำหรับครอบครัวที่มีเด็กควรเก็บอาหารชิ้นเล็ก ๆ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ลูกอม ข้าวโพดคั่ว องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ ฯลฯ ให้พ้นมือเด็ก ป้องกันการหยิบกินโดยที่ไม่ได้อยู่ในสายตาของพ่อแม่ ไม่ควรให้เด็กเล็กกินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่น และแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ที่ติดกระดูก ผลไม้ที่มีเม็ดขนาดเล็ก ควรเอาเม็ดออกพร้อมตัดแบ่งเป็นคำเล็กพอที่เด็กจะเคี้ยวได้ เนื่องจากเม็ดของผลไม้มีความลื่นและมีโอกาสหลุดเข้าหลอดลมได้ง่าย
เมื่อพบเด็กหรือผู้ใหญ่มีอาหารติดคอ หรือสิ่งแปลกปลอมติดคอ หรือสำลักอาหาร ควรปฏิบัติดังนี้
1. หากผู้ป่วยยังไอแรง ๆ ได้ พูดได้ และหายใจเป็นปกติไม่ต้องทำอะไร แต่ควรรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอทันที อย่าพยายามใช้นิ้วล้วงคอ เพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออก เพราะอาจดันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ จนเกิดอันตรายได้
2. หากผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการทรมาน ไม่สามารถส่งเสียงได้ ลองทุบหลังตรงระหว่างไหล่ทั้งสองข้างก่อน 5 ครั้ง ด้วยแรงพอประมาณ หากอาหารยังลงไปไม่ลึกมาก อาจจะออกมาทางปากได้
3. หากอาหารยังไม่ออกมา ให้ยืนด้านหลังผู้ป่วยโอบรอบใต้รักแร้ มือข้างหนึ่งกำ โดยหันกำปั้นด้านนิ้วหัวแม่มือเข้าไปด้านในหน้าท้องผู้ป่วย แล้ววางไว้ เหนือบริเวณสะดือแต่ใต้ลิ้นปี่ มืออีกข้างโอบกำปั้นไว้ และรัดกระตุกที่หน้าท้องขึ้นและเข้าพร้อม ๆ กัน แรง ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออก หรือจนกว่าผู้ป่วยจะพูดหรือร้องได้ จากนั้นพาส่งโรงพยาบาลทันที
4. หากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ได้ พูดไม่ออก ให้จับผู้ป่วยนอนหงายบนพื้น เปิดทางเดินหายใจ ยกปลายคางขึ้น อีกมือหนึ่งกดหน้าผากลง เป่าปากเพื่อช่วยในการหายใจ ถ้าลองเป่าปากแล้วหน้าอกไม่ยกขึ้น ให้ใช้มือกดที่ท้อง ในท่านอนหงาย 6-10 ครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ที่มีอาการอาหารติดคอ ควรรีบช่วยเหลือภายใน 3-5 นาทีที่แสดงอาการ รวมถึงโทรแจ้ง 1669 เพราะยิ่งปล่อยไว้นานอาจอันตรายถึงชีวิตได้