บรรเทาและจัดการความเครียดด้วยการ "รู้ทันอารมณ์ตัวเอง"
ผลพวงจากโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนเผชิญกับความเครียด ซึ่งความเครียดนั้นอาจเกิดได้ทั้งจากการเก็บอารมณ์ที่ไม่ดีเอาไว้ และจากการระบายอารมณ์อย่างไม่เหมาะสม ดังนั้น การรู้จักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะช่วยลดความเครียดลงแล้ว ยังช่วยให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้นด้วย
หนังสือ วิธีปฏิบัติเพื่อช่วยคลายเครียด โดย สำนักวิชาการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลที่น่าใจเกี่ยวกับการรู้ทันอารมณ์ โดยระบุว่า ก่อนอื่นเราควรจะต้องรู้ตัวว่ากำลังมีอารมณ์อะไรอยู่ เป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี โดยฝึกตัวเองให้สังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะแสดงภาษาท่าทางหรือการกระทำอะไรออกไปเสมอไม่เช่นนั้น การที่ทำอะไรตามอารมณ์โดยไม่ยั้งคิด อาจต้องมาเสียใจในภายหลังก็เป็นได้
ถ้าอารมณ์ดีก็ควรแสดงออกในทางที่ดีขึ้น เช่น ยิ้มแย้ม หัวเราะ ฮัมเพลง พูดจาหยอกล้อกับคนใกล้ชิด และควรพยายามรักษาอารมณ์ที่ดีอย่างนี้ไว้ให้ได้นาน
ในทางตรงกันข้าม ถ้าอารมณ์ไม่ดี ก็ต้องยอมรับว่าคนเราย่อมมีอารมณ์ที่ไม่ดีกันได้เสมอ และไม่ควรเก็บกดอารมณ์ที่ไม่ดีเอาไว้เพราะจะทำให้เครียด ควรแสดงออกอย่างเหมาะสม อย่าทำอะไรหุนหันพลันแล่น ควรไตร่ตรองถึงผลที่จะตามมาอยู่เสมอ เช่น ถ้ามีเรื่องขัดแย้งทะเลาะวิวาทกับผู้ร่วมงานอาจถูกไล่ออกจากงานหรือถ้าทำร้ายร่างกายคนอื่นก็อาจถูกเชาทำร้ายตอบหรืออาจติดคุกทำให้ต้องเสียอนาคตด้วยเรื่องที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่กันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
หากอารมณ์เสียมาจากที่อื่นหรือบุคคลอื่นควรพยายามหักห้ามใจ ควบคุมอารมณ์เอาไว้ อย่าไประบายกับอีกคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องด้วย เพราะจะเป็นการสร้างความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจผิดต่อกัน ทำให้ความเครียดขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ควรเปลี่ยนเป็นการพูดระบายความขับข้องใจและขอความเห็นใจ ขอกำลังใจจากคนใกล้ชิดจะดีกว่า
ทั้งนี้ ควรคิดเสมอว่าต้องการแสดงออกเพื่อให้เกิดผลอะไร เช่น ถ้าโกรธใครแล้ว อยากให้เขาขอโทษ ก็ควรบอกให้อีกฝ่ายรู้ตัวว่าการกระทำของเขาทำให้เราไม่พอใจ เพราะบางครั้งเขาอาจไม่เจตนาหรือไม่รู้ตัวก็ได้ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เราโกรธ การพูดการบอกกันดีๆ แบบนี้จะทำให้อีกฝ่ายยอมรับได้มากกว่าการใช้อารมณ์เกรี้ยวกราดด่าว่าหรือแสดงกิริยากระแทกกระทั้นออกไป เพราะจะทำให้อีกฝ่ายโกรธตอบ และเรื่องที่ควรจบลงง่ายๆ อาจกลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตก็ได้
ในบางสถานการณ์อาจไม่สามารถพูดตรงๆ กับอีกฝ่ายได้ในทันที อาจเนื่องจากกำลังอยู่ในอารมณ์ที่ไม่ดีทั้งคู่ หรืออาจกำลังเร่งรีบ ไม่พร้อมที่จะรับฟัง เราอาจจะต้องเก็บความรู้สึกมาบอกเล่าหรือปรึกษากับเพื่อนสนิท หรือคนใกล้ชิดที่บ้านแทนไปก่อน จะช่วยลดความกดดันในใจได้หลังจากนั้นรอจังหวะที่คนๆ นั้นอารมณ์ดี พร้อมที่จะรับฟังคำชี้แจง จึงค่อยเข้าไปพูดจาทำความเข้าใจกัน
หมั่นสังเกตตัวเองและรู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังอยู่ในอารมณ์ใด ให้คิดก่อนเสมอว่าควรจะแสดงออกอย่างไรจึงจะเหมาะสมและได้รับผลตามที่ต้องการ ถ้าทำได้ ความเครียดจะค่อยๆ ลดลง ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็จะดีขึ้นด้วย