รับมืออย่างไร? เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
อากาศเมืองไทยในช่วงนี้เป็นอะไรที่รับมือยากทีเดียว เพราะเดี๋ยวร้อนจัด เดี๋ยวเย็น เดี๋ยวฝนตก บางครั้งในหนึ่งวันอาจมีหลายสภาพอากาศ เช่น ช่วงค่ำและเช้าอากาศหนาวเย็น ช่วงกลางวันอากาศร้อนจัด หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ อีกทั้งยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ
กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้ง่าย โดยโรคที่พบมาก 2 กลุ่ม คือ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด และโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง ดังนั้น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องมีความเข้าใจและรู้จักการดูแลสุขภาพให้ปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
ข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเองและบุคคลในครอบครัวช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ ควรปรุงให้สุกก่อนการบริโภค และใส่ในภาชนะที่สะอาด หลีกเลี่ยงเมนูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ และดื่มน้ำสะอาด โดยดื่มให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จิบบ่อย ๆ
2. ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทุกครั้งก่อน-หลัง ที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ
3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้พักผ่อน เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
4. สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น หากอากาศหนาวควรสวมเสื้อผ้าหนาๆ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ถ้าอากาศร้อนควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายความร้อนได้ดี
5. ทำกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ การปั่นจักรยาน หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด หรืออยู่ในที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน เพื่อหลีกเลี่ยงโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
6. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เพราะทำให้ระบบภูมิต้านทานโรคในร่างกายต่ำลง จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
7. หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้าด้วย โดยเฉพาะตา จมูก และปาก รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย ไม่ใช้สิ่งของรวมกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
8. เด็กเล็กควรได้กินนมแม่เป็นประจำ เนื่องจากจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทารกแรกเกิด-6 เดือนได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นสามารถให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนอายุครบ 2 ปี โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
9. ผู้สูงอายุควรมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม อาทิ เดิน รำมวยจีน ควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม และรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง ในทุกมื้ออาหารก็จะช่วยป้องกันไข้หวัดและส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย
10. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังควรตรวจเช็กค่าความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ อย่าลืมป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 ด้วยการล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน