"สุขภาพจิตสำคัญ รวมตัวช่วงสงกรานต์ทั้งที อย่าลืมดูแลใจกันและกัน"
มัวแต่เคร่งเครียดกับวิถีชีวิตใหม่ห่างไกลโควิด เผลอแป๊บเดียวก็จะถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ใครที่ห่างบ้านมานานเพราะต้องเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ หรือต่างคนต่างยุ่งจนไม่มีเวลาอยู่ด้วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา สงกรานต์นี้เป็นโอกาสดีที่ทุกครอบครัวจะได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันเติมความสุขสลายความเครียด
ความเครียด เป็นสภาวะของร่างกายและจิตใจที่เกิดจากการตื่นตัวเมื่อต้องรับมือ เผชิญกับเหตุการณ์ ความเครียดเป็น
สภาวะที่เกิดขึ้นกับทุกคน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และความสามารถในการจัดการความเครียดของคนๆ นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าตอนนี้ประชากรทั่วโลกต่างประสบปัญหาความเครียด โดยการสำรวจความเครียดในระดับโลกของ The World Stress Index พบว่า ในปี 2021-2022 ประเทศในยุโรปมีระดับความเครียดจะอยู่ที่ระดับ 50 – 60% ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าในสถานการณ์โควิด 19
ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการผลสำรวจเกี่ยวกับความเครียดที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการวัดระดับอารมณ์ผ่านทาง www.วัดใจ.com โดยผลในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นช่วงที่ประชาชนมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงสุดตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติ โดยมีภาวะเครียดสูง 45.5% เสี่ยงซึมเศร้า 51.5% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 30.6% และมีภาวะหมดไฟ 17.6% และเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีมากขึ้นในปัจจุบัน
ผลจากการประเมินในช่วง 1 มกราคม ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2565 พบภาวะเครียดสูง 6.04% เสี่ยงซึมเศร้า 7.31% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 4.09% และมีภาวะหมดไฟ 4.4% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้จะอยู่ภาวะที่มีความเครียดและความเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิต แต่คนไทยยังสามารถที่จะรับมือและสร้างเกราะคุ้มกันให้ตนเองเพื่อก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้
สำหรับวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ในปีนี้ สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้เป็นโอกาสสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมที่มีความหมายและมีความสนุกสนานไปพร้อมกัน ตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจในช่วงสงกรานต์ เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน เน้นเมนูที่ทุกคนมีส่วนร่วม, สรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ โดยให้เด็ก ๆ ช่วยกันทำน้ำลอยดอกไม้, ทำความสะอาดและจัดเก็บบ้าน ช่วยกันออกไอเดียจัดบ้านใหม่ การทำกิจกรรมร่วมกันจะทำให้ทุกคนในครอบครัวผ่อนคลายจากความเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
การใช้เวลาคุณภาพเช่นนี้นอกจากสร้างความสนิทสนมในครอบครัวได้แล้ว ยังเป็นโอกาสที่ดี ให้สมาชิกซักถามถึงสุขภาพจิตของสมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้ โดยใช้วิธีพูดคุยกันถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ระบายความรู้สึกหรือเล่าถึงชีวิตช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร หมั่นสังเกตซึ่งกันและกัน เพื่อประเมินว่าคนในครอบครัวมีระดับความเครียด ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต หรือต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากครอบครัวหรือผู้เชี่ยวชาญ
หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวมีความเครียดอย่างมาก หรือมีปัญหาสุขภาพจิต ควรช่วยกันหาทางแก้ปัญหา หรือพาไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา