ส่งเสริมพัฒนาการ-สานสายใยรักให้ลูกด้วย “การเล่น”
การเล่นของเด็ก หมายถึง กิจกรรมหรือการกระทำใด ๆ ที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่เด็กโดยไม่คำนึงถึงผลที่ซึ่งเกิดขึ้น เป็นวิถีการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่เป็นธรรมชาติ เมื่อพ่อแม่เล่นกับลูก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สายใยรัก ความทรงจำที่ดี และความผูกพันระหว่างครอบครัวที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
การเล่นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตเด็ก เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดประสบการณ์เด็กซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของเด็กในปัจจุบัน และถ่ายโยงประสบการณ์นี้ไปยังอนาคตของเด็ก การเล่นของเด็กเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการบังคับ เด็กต้องการเล่นอยู่ตลอดเวลา โดยไม่กำหนดเวลา และเด็กมีความสุขเมื่อได้เล่น การเล่นของเด็กที่แท้จริงต้องเปิดโอกาสให้เด็กเล่นอย่างอิสระทั้งทางกาย ทางความคิด และทางสังคม
นอกจากนี้ การเล่นยังเป็นการแสวงหาความเพลิดเพลินจากสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์การเรียนรู้ ถ้าการเล่นนั้นน่าสนใจและน่าสนุกก็จะเป็นการกระตุ้นให้ติดตามโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดเลย การเล่นนอกจากจะเป็นธรรมชาติของเด็กแล้วยังเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้ รู้จักธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รู้จักช่างสังเกต รู้จักคิดเชื่อมโยงเหตุผล การเล่นช่วยให้เด็กพัฒนาไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่นำสังคม ไปสู่การรู้จักรับผิดชอบต่อตนเอง เรียนรู้ระเบียบวินัย รู้จกควบคุมอารมณ์ ถ่ายทอดจินตนาการ
ประโยชน์ของการเล่น
1. ทำให้เด็กมีความสุข สนุกสนาน ร่าเริง เบิกบาน อารมณ์ดี เมื่อลูกมีความสุขก็ย่อมทำให้พ่อแม่แฮปปี้ตามไปด้วย
2. ช่วยส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน ทำให้มีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ ภาษา สติปัญญา สังคม การช่วยเหลือตนเอง
3. สร้างความทรงจำดีระหว่างกัน การใช้เวลาดี ๆ ด้วยกันจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกผูกพัน สร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกมีความสุขและรู้สึกไว้วางใจ เเละเชื่อมั่นในตัวพ่อแม่
4. เพิ่มพูนความอิสระในการตัดสินใจและแก้ปัญหา นำไปสู่บุคลิกภาพที่มั่นใจในตนเอง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ
5. เกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จจากการเล่น การลองทำอะไรใหม่ ๆ เอาชนะความกลัวด้วยความกล้าหาญ
6. ได้เรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้ใหญ่ การคิดวางแผน การตัดสินใจ และความร่วมมือกับผู้อื่น
ข้อเสนอแนะสำหรับพ่อแม่ในการเล่นกับลูก
- เข้าใจว่าการเล่นคือ พัฒนาการเรียนรู้ และส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์
- เลือกการเล่นที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกในวัยนั้น ๆ เช่น เด็กทารกชอบเล่น สัมผัส หยิบจับ, เด็กวัยเตาะแตะชอบเล่นค้นคว้า และทดลอง, เด็กวัยอนุบาลชอบเล่นเป็นงานเป็นการ เล่นสร้างสรรค์ เล่นน้ำ เล่นทราย
- เล่นกับเด็กทุกวัน วันละเล็กวันละน้อย อย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ควรชี้นำบังคับ ให้ลูกเล่นตามแนวทางที่พ่อแม่ต้องการ เพราะจะทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาความคิด การตัดสินใจ ควรปล่อยหรือกระตุ้นให้เด็กเล่นอย่างอิสระ มีอิสระในการตัดสินใจ แก้ปัญหา และแสดงออกด้วยตนเอง
- ให้คำชมเชยเมื่อเด็กเล่นได้สำเร็จ ถ้าเล่นไม่สำเร็จก็ให้กำลังใจ หรือคอยเชียร์อัพให้ลองทำอีกครั้ง
- จัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการเล่น ตลอดจนเลือกของเล่นที่ปลอดภัย ขณะเล่นก็ต้องคอยเฝ้าดูไม่ให้คลาดสายตา
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่นที่ราคาแพงให้ลูก ของเล่นที่พ่อแม่ทำเองจากวัสดุที่มีในบ้าน หรือแค่การพูดคุย หยอกล้อ เล่านิทาน ร้องเพลง ทายปัญหา ก็สร้างความสุขและส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้เป็นอย่างดี