ไม่ใช่แค่หุ่นดี...ออกกำลังกาย ช่วยคลายเครียด เยียวยาซึมเศร้า
เมื่อกล่าวถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย คนส่วนใหญ่มักโฟกัสไปที่ผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพกาย อาทิ ทำให้รูปร่างสมส่วน กล้ามเนื้อแข็งแรง ลดไขมันที่สะสมตามร่างกาย ช่วยลดน้ำหนัก แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำส่งผลดีต่อสุขภาพจิตเช่นกัน โดยช่วยคลายเครียด รวมถึงเยียวยาโรคซึมเศร้าได้
“ความเครียด” คือ สภาพจิตใจที่กดดันบีบคั้นจากเหตุการณ์หนึ่ง ทำให้รู้สึกไม่พอใจและคิดว่าร้ายแรงเกินความสามารถที่จะรับได้หรือแก้ไขได้ ทำให้หนักใจ เป็นทุกข์ ทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายและพฤติกรรม ความเครียดมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง ทั้งร่างกายจิตใจ และพฤติกรรม ทุกครั้งที่เครียด อีกทั้งระดับฮอร์โมนภูมิคุ้มกันและระบบประสาทอัตโนมัติจะทำงานแปรปรวน ร่างกายทำงานไม่ประสานสอดคล้อง เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในระบบ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา การออกกำลังกายจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดี
การออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลายความเครียดควรเลือกกีฬาหรือกิจกรรมที่ชอบและถนัดเหมาะสมกับสมรรถภาพของร่างกาย รูปแบบการออกกำลังกายมีหลายอย่าง เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก ฟุตบอล บาสเกตบอส เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น สำหรับผู้ที่ไม่ถนัดกีฬา อาจใช้กายบริหาร เช่น โยคะ หรือมวยจีน แทนได้ การฝึกโยคะและมวยจีน ทำให้จิตใจมีสมาธิในขณะที่ออกกำลังกายต่อเนื่องนานพอควร ประมาณ 20 นาที ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุข (Endophine) ขึ้นในสมอง ช่วยให้มีความสุขและรู้สึกสบายใจ และผ่อนคลายความเครียด
วิธีจัดการกับความเครียด การฝึกเกร็งกล้ามเนื้อ จะทำให้รับรู้อื่น ๆ เช่น การเกร็งกล้ามเนื้อกลุ่มต่าง ๆ และรู้สึกสบายเมื่อคลายกล้ามเนื้อ และการฝึกกำหนดลมหายใจเป็นทางเลือกเพื่อผ่อนคลายความเครียดในแต่ละวัน
ส่วน "โรคซึมเศร้า" นั้น คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย โดยทางการแพทย์ระบุว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย
หนึ่งในวิธีรับมือความเศร้า เพื่อป้องกัน "โรคซึมเศร้า" คือ การออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับสารเคมีเซโรโทนินในสมอง รวมถึงเพิ่มการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งสารเอ็นโดรฟินที่หลั่งอย่างต่อเนื่องจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนี้อาจมีผลกระตุ้นทำให้เกิดสมดุลของสารเคมีในสมองที่พร่องไปของผู้ป่วยซึมเศร้า ค่อย ๆ คืนสภาพสู่ภาวะสมดุลได้ ช่วยทำให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น แถมยังช่วยให้สุขภาพด้านอื่น ๆ ดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายทุกครั้ง ควรปฏิบัติตามขั้นตอนของการออกกำลังกายเพื่อเตรียมความพร้อมและป้องกันกล้ามเนื้อบาดเจ็บ ได้แก่ 1. อบอุ่นร่างกาย 5-10 นาที 2. ออกกำลังกายหรือกีฬาที่เลือก 10-30 นาที 3. ผ่อนคลาย และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ 5-10 นาที
ทั้งนี้ ควรงดการออกกำลังกายชั่วคราวเมื่อมีอาการไม่สบาย หรือหลังจากฟื้นไข้ใหม่ ๆ หลังจากรับประทานอาหารอิ่ม ในเวลาที่อากาศร้อนจัดและอบอ้าวมาก ที่สำคัญไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากขณะออกกำลังกาย