เสี่ยงโรคเพียบ! อย่าปล่อยให้ลูกเป็น “เด็กอ้วน” เพราะคิดว่าน่ารัก
หลายบ้านที่มีเด็กเป็นสมาชิกในครอบครัวมักชอบใจเมื่อลูกกินเยอะ ๆ ยิ่งเจ้าตัวเล็กจ้ำม่ำเท่าไหร่ยิ่งรู้สึกว่าน่ารักน่าเอ็นดู ปล่อยให้ลูกกินตามใจปาก กระทั่งเป็นเด็กอ้วน และส่วนใหญ่ก็มักสะสมน้ำหนักเรื่อย ๆ กระทั่งเป็นผู้ใหญ่บิ๊กไซซ์น้ำหนักเกินมาตรฐาน และสิ่งที่ตามมากับความอ้วนคือสารพัดโรคที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
โรคอ้วนเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงาน เป็นผลจากความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่ได้รับกับพลังงานที่เผาผลาญ ทำให้เกิดการสะสมพลังงานในรูปของไตรกลีเซอไรด์ในเนื้อเยื่อไขมัน สำหรับโรคอ้วนในเด็กวัยเรียนนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเด็กที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
เด็กที่เริ่มอ้วนและอ้วนจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ที่สำคัญคือ โอกาสเสี่ยงของเด็กอ้วนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน ร้อยละ 25 ผลเสียที่ตามมาจากการเป็นโรคอ้วน ตั้งแต่วัยเด็กคือ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน ทั้งยังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และทำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะไปสะสมอยู่ในบริเวณหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบแข็ง เสี่ยงโรคหัวใจ
นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้เหนื่อยง่าย และอาจอันตรายถึงชีวิต เด็กที่อ้วนมักมีปัญหาเกี่ยวกับข้อและกระดูก ทำให้ปวดหัวเข่า ปวดข้อเท้า กระดูกงอและขาโก่ง เพราะต้องแบกรับน้ำหนักมาก มีปัญหาทางด้านพัฒนาการที่ต้องใช้กล้ามเนื้อ ทำให้เดินไม่คล่องตัว เมื่อเดินหรือวิ่งจะเหนื่อยง่าย ในเด็กโตอาจพบอาการปวดสะโพก ทำให้เดินไม่ได้ ดังนั้น เด็กจึงควรได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนจะกลายเป็นเด็กอ้วน ดังนี้
• เพิ่มการกินผักใบเขียวเข้มให้ได้มื้อละ 4 ช้อนกินข้าวทุกมื้อ กินผลไม้รสไม่หวานและเพิ่มอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีพวกเนื้อสัตว์ ไข่ รวมทั้งกินอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียม อาทิ นมพร่องไขมันวันละ 2 - 3 แก้ว ปลาเล็กปลาน้อย
• ลดขนมที่ทำจากแป้ง ขนมกรุบกรอบ ขนมหวาน และเครื่องดื่มรสหวานทุกชนิด เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน นมเปรี้ยว
• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด ผัดที่ใช้น้ำมันมาก อาหารใส่กะทิ เนื้อสัตว์ติดมันและหนัง อาหารแบบฝรั่งที่ใส่เนย เนยเทียม และครีมมาก เช่น พิซซ่า ไส้กรอก เค้ก คุกกี้ โดนัท โดยเปลี่ยนมากินอาหารนึ่ง ต้ม ย่างที่ไม่ไหม้แทน
• สร้างนิสัยดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 6 แก้วสำหรับเด็กประถมต้น และ 8 แก้วสำหรับเด็กประถมปลาย และดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเมื่อออกกำลังกาย
• เพิ่มกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม คือ การเดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ รวมทั้งการให้เด็กได้ช่วยเหลืองานบ้าน ทำสวนต่าง ๆ
• ไม่อดนอน ไม่นอนดึก นอนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-9 ชั่วโมง ช่วงเวลานอนนี้ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโตออกมามากที่สุด โกรทฮอร์โมนนี้จะทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์กระดูก ทำให้กระดูกยาวขึ้น ช่วยเพิ่มความสูงได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กเริ่มอ้วน
พ่อแม่และครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงห่างไกลโรคอ้วน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเจ้าตัวเล็กเสียแต่วันนี้ ถ้าไม่อยากเห็นลูกสุขภาพพังจากการเป็นเด็กอ้วน