ระวังบ้านชื้น มีรา ก่อปัญหาทางเดินหายใจ
สำหรับบ้านใครที่มีสาเหตุทำให้มีน้ำขังกำแพง หรือเพดาน เช่น น้ำรั่วในท่อแล้วซึมทำให้ผนังชื้น หรือน้ำจากฝนตกลงหลังคา เกิดการขังแล้วซึมลงฝ้าเพดาน ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขและปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ผนังหรือฝ้าจะเกิดความชื้นและเป็นที่เจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาโรคทางเดินหายใจเรื้อรังได้
โดยมีงานวิจัยในประเทศสวีเดน พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีความชื้นจากน้ำรั่วซึมและมีเชื้อรา จะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคไซนัสเรื้อรัง ซึ่งจะมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก คันจมูก เจ็บปวดที่ใบหน้า ความสามารถในการดมกลิ่นลดลง รวมถึงโรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอกขณะไอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก รวมถึงโรคภูมิแพ้และหอบหืด โดยข้อมูลแสดงว่าภาวะอักเสบดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับความชื้น
โดยการสังเกตเชื้อราอาจใช้การดูด้วยตาเปล่า มักเห็นเป็นเหมือนรอยเปื้อนที่ผนัง หรืออาจเห็นเป็นวงกลมอยู่รวมเป็นกลุ่ม พบได้หลายสีขึ้นกับชนิดของเชื้อรา เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว หรือใช้การดมกลิ่น ซึ่งจะได้กลิ่นเหม็นอับทึบหรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน
ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเชื้อราในบ้าน อันดับแรกเลยคือ ซ่อมส่วนที่ทำให้น้ำรั่วซึมก่อน ซึ่งอาจจะเป็นหลังคา ฝ้าเพดาน ในห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนอน ห้องติดระเบียง สำหรับเชื้อรา ส่วนใหญ่เพื่อน ๆ อาจสามารถทำเองได้ ขอให้เริ่มขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
• ทิ้งสิ่งของที่พบเชื้อราและไม่สามารถทำความสะอาดได้ โดยเฉพาะสิ่งของที่มีรูพรุน เช่น พรม ที่นอน เบาะผ้า วอลเปเปอร์ ผลิตภัณฑ์หนัง กระดาษ ไม้ หมอน ตุ๊กตายัดไส้ โดยควรใส่ถุงพลาสติก มัดให้แน่นเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อรา • เตรียมสถานที่ โดยเปิดประตูหน้าต่าง ให้อากาศไหลเวียนอย่างน้อย 30 นาทีก่อนทำความสะอาด และโยกย้ายข้าวของต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลจากเชื้อรา เตรียมเครื่องแต่งกายให้พร้อม โดยเน้นการแต่งกายที่รัดกุม เช่น การสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงมือยาง รองเท้ายาง เอี๊ยมกันน้ำ หมวกคลุมผม แว่นตา และหน้ากาก ในส่วนแว่นตาควรเลือกแบบที่แนบสนิทกับใบหน้าและไม่มีรูระบายอากาศ ในบริเวณที่พบเชื้อราควรใช้หน้ากากชนิด N-95 ที่มีขนาดเหมาะสมกับใบหน้า เพื่อป้องกันการสูดดมเอาเชื้อโรคและเชื้อราเข้าไป ทั้งนี้ หน้ากากกันฝุ่นและผ้าเช็ดหน้าไม่สามารถกันเชื้อราได้ เนื่องจากสปอร์ของเชื้อรามีขนาดเล็กมาก • เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด ได้แก่ กระดาษทิชชู กระดาษหนังสือพิมพ์ แปรงขัด น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน น้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับน้ำยาฆ่าเชื้ออาจซื้อแบบสำเร็จรูป หรือสามารถทำได้เองง่าย ๆ เช่น น้ำส้มสายชูทั้งชนิดหมักหรือกลั่น มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราอย่างอ่อน สามารถฆ่าเชื้อราได้ประมาณ 80% แต่ไม่สามารถฆ่าสปอร์ได้ โดยเลือกที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 7% ฉีดพ่นทิ้งไว้ประมาณ 5 - 10 นาที แล้วเช็ดออก หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกขาวที่มีส่วนผสมของสารประกอบคลอรีน 6% หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60 - 90% เป็นต้น • สำหรับขั้นตอนการทำความสะอาด เมื่อรู้จุดที่มีเชื้อราแล้ว ให้แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนย่อย คือ 1. ใช้กระดาษทิชชูหรือหนังสือพิมพ์พรมน้ำ เช็ดไปในทางเดียวแล้วทิ้งลงถังขยะ ปิดมิดชิด 2. ใช้กระดาษทิชชูหรือหนังสือพิมพ์ ชุบน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง 3. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราที่เตรียมไว้ เช่น น้ำส้มสายชู หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้นสูง เช็ดทำลายเชื้อในขั้นสุดท้าย (ข้อมูลจาก www.matichon.co.th) • หลังจากทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราแล้ว ให้ใช้พัดลมเป่าในบ้านและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แห้งสนิท พร้อมการเฝ้าระวังไม่ให้ภายในบ้านอับชื้น โดยคอยตรวจสอบบริเวณที่เคยพบเชื้อราและบริเวณที่อับชื้นไม่ให้เกิดเชื้อราขึ้นอีก (ข้อมูลจาก เว็บศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์)
มา “สุขใจเพราะเราเลือกดูแลกัน” ด้วยการรู้เท่าทัน “ระวังบ้านชื้น มีรา ก่อปัญหาทางเดินหายใจ” เมื่อไอให้นึกถึงเฟลมเม็กซ์ และเมื่อรู้สึกระคายเคืองในลำคอให้นึกถึง Flemomile สเปรย์สำหรับช่องปากและลำคอนะคะ
|