ระวัง ! 5 โรค ช่วงอากาศเปลี่ยน อากาศบ้านเราเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว ทำให้เชื้อโรคหลายชนิด เติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดี ยิ่งเด็กเล็กภูมิคุ้มกันต่ำ ยิ่งมีโอกาสไม่สบายง่าย ยังมี 5 โรคต้องระวังในช่วงอากาศเปลี่ยนมาให้คุณแม่ได้ระมัดระวังกันค่ะ 1. ไข้หวัด ติดอันดับ ให้เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด (เป็น ๆ หาย ๆ ได้ตลอดปี) เพราะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง มีเพียงอาการไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก และอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาการมักจะหายได้เอง ภายใน 5 - 7 วัน ดูแลอาการ : ดูแลตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ลดน้ำมูก และควรให้ลูกพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดื่มน้ำบ่อย ๆ กินอาหารอุ่น ๆ และสวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อาการหวัดก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น เรื่องระวัง : การเป็นไข้หวัด อาจทำให้เกิดอาการหูชั้นกลางอักเสบ เพราะท่อยูสเตเชียน (Eustachian) เป็นท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับช่วงคอส่วนบน ติดต่อได้ง่าย เกิดอาการหูอักเสบ ทำให้เจ็บหู ลูกร้องไห้ อาการจะหายเองใน 2 - 3 วัน อย่างไรก็ตาม นอกจากลูกมีไข้แล้ว ลูกมักดึงหูตลอดเวลา ควรพาลูกมาพบคุณหมอ เพื่อวินิจฉัยอาการเรื่องหูอักเสบ 2. ไข้หวัดใหญ่ อาการคล้ายไข้หวัด แต่มีความรุนแรงกว่า เช่น มีไข้สูงกว่า ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บคอ ไอ และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถกลายพันธ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดิม ดังนั้น การเป็นแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อไวรัสเพียงหนึ่งสายพันธุ์ย่อย เมื่อหายร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนั้น หากเป็นครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่หมุนเวียนไป ดูแลอาการ : วิธีเช่นเดียวกับไข้หวัด คือให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำบ่อย ๆ และรักษาตามอาการที่เป็น เช่น กินยาลดไข้ ลดอาการไอ เป็นต้น ควรใช้ผ้าปิดจมูกปากขณะไอจาม ระมัดระวังการไอจามรดกัน เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค อีกหนึ่งวิธีทางเลือกคือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ กรณีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีความเสี่ยงต่อโรคปีละครั้ง เรื่องระวัง : หากมีอาการที่รุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การติดเชื้อลุกลามไปยังปอด เกิดภาวะปอดอักเสบตามมา ซึ่งทำเป็นสาเหตุทำให้อาการทรุดหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้นั่นเอง ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นอาการไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนลุกลาม 3. โรคอุจจาระร่วง เชื้อไวรัสโรต้า คือเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการอุจจาระร่วง ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบโดยเฉพาะเด็กเล็ก มีอาการไข้สูง งอแง อาเจียนและถ่ายเหลว อาจรุนแรงจนทำให้อ่อนเพลียและขาดน้ำรุนแรงได้ หรืออาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืดร่วมด้วย ดูแลอาการ : ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่ซองทดแทน เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ หากมีอาการรุนแรงมาก ลูกไม่กินหรือกินได้น้อย ควรพาลูกไปโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาอาการจากคุณหมอจะดีกว่า เรื่องระวัง : ภาวะขาดน้ำเป็นอาการรุนแรงที่อาจทำให้ลูกช็อกได้ การป้องกันเชื้อไวรัสตัวนี้ทางที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีผู้คนแออัด การเล่นของเล่นร่วมกัน ลานของเล่นในห้างสรรพสินค้า จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ รวมถึงการทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ที่อยู่แวดล้อมตัวเด็ก ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า โดยจะต้องได้รับตั้งแต่ขวบปีแรก แต่ยังคงเป็นวัคซีนทางเลือก 4. โรคปอดบวม อาการเบื้องต้นมักเริ่มจากการมีน้ำมูกหรือมีไข้ ตัวร้อน คล้ายการเป็นไข้หวัดในเด็กเล็กทั่วไป แต่มีข้อสังเกตที่ต้องระวังคืออาการผิดปกติ เช่น ไอแห้ง ๆ หายใจครืดคราด มีเสมหะเหนียว กินได้น้อยและมีอาการซึม ดูแลอาการ : การดูแลลูกน้อย คือการปฏิบัติตามคำสั่งของคุณหมอ และป้องกันไม่ให้โรคกลับมาอีก โดยสร้างภูมิคุ้มกันโรค เช่น ดูแลเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ช้อน แก้วน้ำ ของเล่น รวมถึงการรับวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้ควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอก่อน เรื่องระวัง : หากติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่รุนแรง อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวหรือเสียชีวิต ซึ่งพบว่า เชื้อนิวโมคอคคัส เป็นชื่อแบคทีเรียที่ ทำให้เกิดโรคปอดบวมและโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เกิดหูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ หากลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด เยื่อหุ้มสมอง ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 5. โรคมือเท้าปาก โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตลอดปี และพบว่า มีการระบาดได้มากในช่วงหน้าฝน ช่วงที่อากาศร้อนชื้น อากาศเปลี่ยนแปลง ในระยะเริ่มแรกจะมีไข้ เบื่ออาหาร และเจ็บคอจากแผลภายในช่องปาก (แผลเล็ก ๆ กระจายที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก) ทำให้ลูกกินอาหารได้น้อย ไม่ยอมกลืนน้ำและอาหาร มีผื่นเป็นตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า บางครั้งอาจพบหลังมือและเท้า บริเวณข้อศอก ข้อเข่าและก้นของเด็กได้ เป็นผื่นที่ไม่มีอาการคัน ดูแลอาการ : ดูแลตามอาการทั่วไป คือเช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้ ใช้ยาชาป้ายแผลในปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บแผล ให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ที่สำคัญคือ เนื่องเป็นโรคติดต่อ จึงควรแยกลูกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปคนอื่นๆ ดูแลอาการที่บ้านอย่างน้อย 5 - 7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เรื่องระวัง : ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ภาวะขาดน้ำจากการดื่มน้ำน้อยลง ไม่ยอมกินอาหาร มีอาการแทรกซ้อนของระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิต เช่น มีไข้สูง ซึม อาเจียน หอบเหนื่อย อ่อนเพลียมาก อ่อนแรง เดินเซ ตัวลาย ควรพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ที่มา www.motherandcare.in.th |
ระวัง ! 5 โรค ช่วงอากาศเปลี่ยน |
|
|